ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: หลอดเลือดขอดที่ขา (Varicose vein)  (อ่าน 29 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 239
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: หลอดเลือดขอดที่ขา (Varicose vein)
« เมื่อ: วันที่ 20 ธันวาคม 2024, 16:49:57 น. »
หมอประจำบ้าน: หลอดเลือดขอดที่ขา (Varicose vein)

หลอดเลือดดำที่ขา มีหน้าที่นำเลือดดำจากเท้ากลับสู่หัวใจ โดยอาศัยแรงบีบของกล้ามเนื้อบริเวณเท้าบีบเลือดต้านแรงถ่วงของโลกให้ไหลกลับขึ้นสู่หัวใจ ทั้งนี้โดยมีลิ้นเล็ก ๆ อยู่ในหลอดเลือดดำ ช่วยป้องกันมิให้เลือดไหลย้อนกลับลงเท้า

เป็นภาวะที่พบได้บ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า มักพบว่ามีพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

สาเหตุ

เกิดจากความผิดปกติของลิ้น (valves) เล็ก ๆ ในหลอดเลือดดำ ไม่สามารถกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้ จึงทำให้เลือดไหลย้อนลงมาคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำส่วนปลาย ได้แก่ ส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นหลอดเลือดที่โป่งพอง สีคล้ำ ๆ เรียกว่า หลอดเลือดขอดที่ขา

โรคนี้พบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และพบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 50 ปี

คนอ้วน ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนเกือบทั้งวัน หรือยกของหนัก และผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นหลอดเลือดขอดที่เท้า มักมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น

อาการ

อาการที่พบในระยะแรกเริ่ม จะเห็นหลอดเลือดโป่งพองสีคล้ำ ๆ ที่ขาเวลายืน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณน่อง (แต่อาจพบตรงบริเวณใดก็ได้ ระหว่างตาตุ่มขึ้นไปถึงสะโพก)

ในหญิงตั้งครรภ์อาจพบหลอดเลือดขอดที่บริเวณช่องคลอด

เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยในบริเวณนั้น หรือเท้าบวมหลังจากนั่งหรือยืนนาน ๆ อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นในผู้หญิงขณะมีประจำเดือน หรือก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน

ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีผื่นคันขึ้นในบริเวณที่เป็นหลอดเลือดขอด โดยเฉพาะตรงบริเวณใกล้ ๆ ข้อเท้า ผิวหนังในบริเวณนั้นอาจออกเป็นสีคล้ำ ๆ

ภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไปไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายแต่อย่างใด

แต่ถ้าหกล้มหรือถูกของมีคมบาดตรงบริเวณที่มีหลอดเลือดขอด อาจทำให้เกิดแผลเลือดออกรุนแรงได้

ถ้าเป็นหลอดเลือดขอดที่รุนแรง ผิวหนังในบริเวณนั้นอาจแตกกลายเป็นแผลเรื้อรัง เรียกว่า แผลจากหลอดเลือดขอด (varicose ulcer)

บางรายอาจเกิดลิ่มเลือดร่วมกับการอักเสบของหลอดเลือดดำ ซึ่งมักจะเป็นที่บริเวณผิว ๆ เรียกว่า หลอดเลือดดำส่วนผิวอักเสบมีลิ่มเลือด (superficial thrombophlebitis) ภาวะนี้มีอันตรายน้อย และมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นลิ่มเลือดขนาดเล็ก และไม่หลุดลอยไปที่อื่น (อาการที่พบ คือ หลอดเลือดดำที่มีลิ่มเลือดจะมีลักษณะคลำได้เป็นเส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ ให้การรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ สวมใส่ถุงเท้าชนิดยืด หรือพันด้วยผ้าพันแผลชนิดยืด ยกเท้าสูงเวลานอนหรือนั่ง)

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบหลอดเลือดโป่งพองสีคล้ำ ๆ ที่บริเวณขา

ในการประเมินความรุนแรงของโรค แพทย์จะทำการตรวจดูความผิดปกติของลิ้น (valves) ในหลอดเลือดดำด้วยอัลตราซาวนด์

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าเริ่มเป็นหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง โดยการปฏิบัติตัวต่าง ๆ และให้ผู้ป่วยใส่ถุงน่องที่ใช้รักษาหลอดเลือดขอด (compression stockings) ไว้ตลอดวัน เพื่อช่วยบีบไล่ให้เลือดเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น   

2. ในรายที่เกิดมีแผลจากหลอดเลือดขอด ถ้าแผลขนาดเล็ก ควรชะล้างแผล ทำแผลทุกวัน ร่วมกับให้ผู้ป่วยยกเท้าสูง และใส่ถุงน่องยืด (หรือรัดเท้าด้วยผ้ายืด) ก็อาจช่วยให้แผลหายได้ แต่ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือดขอดออก และอาจต้องรักษาแผลโดยวิธีปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) คือ นำผิวหนังจากที่อื่นมาปะแทน

3. ถ้ารักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผลหรือเป็นรุนแรง แพทย์จะให้การรักษา ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

    การฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดดำที่ขอด ทำให้เกิดการแข็งตัวและตีบตันเพื่อตัดการไหลเวียนของเลือด (sclerotherapy)
    การฉีดโฟมเข้าไปในหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ที่ขอด ทำให้เกิดการแข็งตัวและตีบตัน (foam sclerotherapy)
    การรักษาด้วยเลเซอร์ (laser therapy)
    การรักษาด้วยการใช้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency เรียกว่า “Radio frequency ablation, RFA”) หรือเลเซอร์ (laser energy  เรียกว่า “Endovenous laser therapy, EVLT”) ซึ่งส่งผ่านสายสวนที่สอดใส่เข้าไปในหลอดเลือดที่ขอด เข้าไปทำให้หลอดเลือดยุบตัวลง
    การผูกและดึงหลอดเลือดดำที่ขอดออกไป (high ligation and vein stripping )
    การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (endoscopic vein surgery) สำหรับโรคที่เป็นรุนแรงเกิดมีแผลเรื้อรัง ซึ่งลองใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

4. ในรายที่เกิดมีแผลจากหลอดเลือดขอด ถ้าแผลขนาดเล็ก ควรชะล้างแผล ทำแผลทุกวัน ร่วมกับให้ผู้ป่วยยกเท้าสูง และใส่ถุงน่องยืด (หรือรัดเท้าด้วยผ้ายืด) ก็อาจช่วยให้แผลหายได้ แต่ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือดขอดออก และอาจต้องรักษาแผลโดยวิธีปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) คือ นำผิวหนังจากที่อื่นมาปะแทน

การดูแลตนเอง

1. ถ้าเริ่มเป็นหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง ดังนี้

    หมั่นออกกำลังกาย
    ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน
    หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ และไม่นั่งไขว่ห้างนาน ๆ
    หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าคับหรือรัดแน่น โดยเฉพาะในบริเวณเอว ขาหนีบ และขา
    พยายามนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจดีขึ้น
    ใส่ถุงน่องที่ใช้รักษาหลอดเลือดขอดไว้ตลอดวัน

2. ถ้ามีเลือดไหลจากหลอดเลือดขอด ควรดูแลตนเองโดยการนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก และใช้ผ้าสะอาดกดแรง ๆ ตรงรอยแผลที่มีเลือดออก เมื่อเลือดหยุดแล้ว ให้ทำความสะอาดแผลแบบบาดแผลสดทั่ว ๆ ไป

3. ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    เมื่อดูแลตนเองแล้ว อาการปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยขาหรือเท้าบวมไม่ทุเลา
    มีเลือดออก และห้ามเลือดด้วยตนเองไม่ได้ผล หรือบริเวณรอยแผลที่มีเลือดออกมีการติดเชื้ออักเสบ
    มีการอักเสบของหลอดเลือดดำ (มีลักษณะคลำได้เป็นเส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ) หรือมีแผลที่เท้าเกิดขึ้นจากการแตกของผิวหนัง
    มีความวิตกกังวล

การป้องกัน

อาจป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคหลอดเลือดขอดที่เท้า ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้

    หมั่นออกกำลังกาย
    หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ
    ควบคุมน้ำหนักตัว
    หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าคับหรือรัดแน่น โดยเฉพาะในบริเวณเอว ขาหนีบ และขา
    หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงนาน ๆ
    ยกเท้าสูงเวลานอน

ข้อแนะนำ

1. หลอดเลือดขอดที่ขาพบได้ในคนส่วนใหญ่ มักไม่มีความรุนแรงและไม่มีอันตรายร้ายแรง การปฏิบัติตัวตามที่แนะนำไว้ในหัวข้อ “การดูแลตนเอง ข้อที่ 1” มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น

2. ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะเลือกวิธีรักษาโดยพิจารณาตามสภาพของผู้ป่วย ลักษณะและความรุนแรงของโรค หลังการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้เป็นปกติ แต่ส่วนน้อยอาจมีโอกาสกำเริบได้อีก ควรหาทางป้องกันไม่ให้กำเริบด้วยการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

3. อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขา (เช่น บริเวณน่อง) เป็นครั้งคราว นอกจากมีสาเหตุจากหลอดเลือด (ดำ) ขอดแล้ว  ยังอาจเกิดจากหลอดเลือดแดงขาตีบ ซึ่งพบบ่อยในคนสูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือสูบบุหรี่ ซึ่งมักมีอาการปวดขาข้างเดียวหลังเดินสักพัก และทุเลาเมื่อหยุดพักสักครู่ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดขาเวลานั่ง ยืน หรือเดินนาน ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ