ผู้เขียน หัวข้อ: โรคที่มาพร้อมกับความอ้วน และวิธีลดน้ำหนักให้ได้ผล  (อ่าน 19 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 209
    • ดูรายละเอียด
โรคที่มาพร้อมกับความอ้วน และวิธีลดน้ำหนักให้ได้ผล

ผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมักประสบปัญหาสุขภาพได้ง่ายเมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น มีอาการปวดหลัง หรือปวดตามข้อต่อ เป็นต้น โดยอาการป่วยต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ และโรคบางชนิดที่มีสาเหตุมาจากความอ้วนก็อาจรุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรศึกษาอันตรายที่อาจเกิดจากความอ้วน และเรียนรู้แนวทางการลดน้ำหนักเพื่อให้ห่างไกลจากโรคภัยที่มากับความอ้วน


โรคที่มาพร้อมกับความอ้วน

ภาวะอ้วนทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มากขึ้น ดังนี้

1.    ภาวะอ้วนจนหายใจไม่ออก เป็นภาวะที่ไม่สามารถสูดหายใจเข้าลึก ๆ ได้ตามปกติ จนทำให้มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำและมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง แม้สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากระบบควบคุมการหายใจของสมองบกพร่อง และมีน้ำหนักส่วนเกินที่กระทบต่อการทำงานของผนังทรวงอก

2.    ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ ซึ่งจะมีอาการ เช่น กรนเสียงดังมาก อาจหยุดหายใจเป็นระยะในขณะนอนหลับ อาจรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้

3.    โรคข้อเสื่อม การมีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐานมาก ๆ ทำให้ข้อต่อต้องรับน้ำหนักมากตามไปด้วย ส่งผลให้กระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่ป้องกันข้อต่อค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง จนอาจเป็นเหตุให้รู้สึกปวดตามบริเวณที่เป็นกระดูกข้อต่อ เช่น หลัง สะโพก และหัวเข่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักอาจช่วยลดแรงกดบริเวณกระดูกข้อต่อ บรรเทาอาการของโรค และชะลอความเสื่อมของข้อได้

4.    โรคเก๊าท์ เป็นภาวะมีกรดยูริกในเลือดสูงซึ่งทำให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่าง ๆ จนทำให้เกิดอาการบวมตามข้อ โดยโรคเก๊าท์พบได้มากในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน แต่การลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้อาการของโรคเก๊าท์รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ที่ป่วยหรือเคยป่วยด้วยโรคเก๊าท์ควรปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางที่เหมาะสมในการลดน้ำหนัก

5.    โรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินมักป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งการลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ นอกจากนี้ การลดน้ำหนักและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอาจลดการใช้ยารักษาเบาหวานได้

6.    โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่พบได้มากในผู้ที่มีภาวะอ้วน ทว่าการลดน้ำหนักตัวลงอย่างรวดเร็วหรือลดลงในปริมาณมากอาจทำให้เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน ซึ่งขอบเขตการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 0.45-0.9 กิโลกรัม/สัปดาห์

7.    โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง น้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมาก ๆ อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยหากลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ก็อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคได้

8.    โรคมะเร็ง ภาวะอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งที่ไต ถุงน้ำดี ตับอ่อน และรังไข่ เป็นต้น

9.    ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โรคอ้วนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น อาการปวดหลังเรื้อรัง โรคกรดไหลย้อน ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง และปัญหาสุขภาพจิตอย่างการขาดความมั่นใจในตนเอง มีอาการเก็บตัวและซึมเศร้า เป็นต้น


ลดน้ำหนักอย่างไรให้ได้ผล ?

หลายคนอาจใช้วิธีลดความอ้วนด้วยการอดอาหารเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ทำให้น้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งการลดน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาวนั้น ผู้ที่ต้องการลดความอ้วนจะต้องควบคุมอาหารควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างด้วย โดยสามารถทำได้ดังนี้

-    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณเหมาะสม การลดน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารลดน้ำหนักอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควรหากพฤติกรรมการรับประทานยัังคงเป็นแบบเดิม ดังนั้น ควรควบคุมพฤติกรรมการรับประทานด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ

-    ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มรสหวาน เมื่อกระหายน้ำ หลายคนอาจชอบดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์แทนการดื่มน้ำเปล่า แต่เครื่องดื่มเหล่านั้นมีแคลอรี่สูงซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความอ้วน ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำเปล่าเป็นหลัก และลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวาน

-    ออกกำลังกายมากขึ้น ผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2.5 ชั่วโมง โดยออกกำลังกายระดับหนักปานกลาง เช่น เดินเร็ว วิ่ง เต้น หรือว่ายน้ำเป็นเวลาประมาณ 20-45 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เป็นต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินหรือปั่นจัักรยานไปทำงาน เป็นต้น

-    สังเกตการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะอยู่ในช่วงลดน้ำหนัก ควรชั่งน้ำหนักเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของตนเองสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอย่ารู้สึกเสียใจหรือผิดหวังหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยควรดูภาพรวมของน้ำหนักที่ลดลงไปทั้งหมดอีกครั้งเมื่อเริ่มลดน้ำหนักได้หลายเดือนแล้ว

ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลดน้ำหนัก อาจขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนที่กำลังลดน้ำหนักเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ออกกำลังกายและลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีได้เป็นผลสำเร็จ