ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis)  (อ่าน 6 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 190
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis)
« เมื่อ: วันที่ 3 พฤศจิกายน 2024, 20:32:09 น. »
หมอออนไลน์: ไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis)

Transverse Myelitis (ไขสันหลังอักเสบ) เป็นการอักเสบบริเวณไขสันหลังที่มักจะส่งผลต่อเซลล์ประสาทและปลอกหุ้มใยประสาทที่เรียกว่ามัยอีลิน (Myelin) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต มีปัญหาด้านประสาทสัมผัส กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ทำงานผิดปกติ ซึ่งสาเหตุอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ โรคระบบภูมิคุ้มกัน โรคปลอกประสาท หรือปัญหาสุขภาพบางประการ

โดยทั่วไป ผู้ป่วย Transverse Myelitis อาจใช้เวลารักษาตัวนานหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งแม้จะเข้ารับการรักษาแล้ว บางรายอาจมีอาการหลงเหลืออยู่บางส่วน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพิการหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ และหากผู้ป่วย Transverse Myelitis มีสาเหตุจากโรคประจำตัวก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้


อาการของ Transverse Myelitis

สัญญาณอาการของ Transverse Myelitis อาจปรากฏขึ้นแบบเฉียบพลันภายใน 2–3 ชั่วโมงจนถึง 2–3 วัน หรือแบบกึ่งเฉียบพลันที่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และกินเวลานานหลายสัปดาห์ โรคนี้มักส่งผลต่อร่างกายทั้งสองข้าง แต่บางครั้งอาจเกิดอาการเพียงข้างใดข้างหนึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ไขสันหลังนั้นอักเสบหรือถูกทำลาย

โดยอาการหลักของ Transverse Myelitis จะมีดังต่อไปนี้

    ปวดตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ หลังส่วนล่าง ปวดแปลบร้าวลงมาที่แขน ขา หรือรอบลำตัว
    ปัญหาด้านประสาทสัมผัสตามขา เท้า นิ้วเท้า หรือแขน เช่น อาการชา ความรู้สึกเหมือนโดนของแหลมทิ่ม เย็น แสบร้อน ไวต่อการสัมผัส ไวต่อความร้อนหรือความเย็นจัด เป็นต้น
    แขนหรือขาอ่อนแรง เดินสะดุดเท้า เดินลากเท้าข้างใดข้างหนึ่ง หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้เป็นอัมพาตบริเวณขาบางส่วนหรือขาทั้งสองข้าง
    กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ทำงานผิดปกติ เช่น ปัสสาวะถี่ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะลำบาก หรือท้องผูก

นอกจากนั้นยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง รู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะ มีไข้ เบื่ออาหาร ปัญหาในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึมเศร้า และวิตกกังวลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ในกรณีผู้ป่วยพบสัญญาณอาการเข้าข่าย Transverse Myelitis ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาการเหล่านี้ยังอาจเป็นผลมาจากโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่ควรต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน และการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไขสันหลังจากการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่หรือลิ่มเลือดที่ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของ Transverse Myelitis

สารมัยอีลินเป็นเนื้อเยื่อไขมันชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายฉนวนไฟฟ้า ทำหน้าที่ช่วยปกป้องใยประสาทและเซลล์ประสาท หากสารมัยอีลินบริเวณไขสันหลังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอาจส่งผลต่อเซลล์ประสาทจนเกิดการอักเสบได้ ทั้งนี้ทางการแพทย์ยังไม่ทราบต้นตอของการเกิดไขสันหลังอักเสบอย่างแน่ชัด แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้


โรคติดเชื้อ

การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อปรสิตบริเวณไขสันหลังอาจก่อให้เกิดการอักเสบในบริเวณดังกล่าวได้ โดยตัวอย่างเชื้อโรคแต่ละประเภทก็เช่น

    การติดเชื้อไวรัส : โรคเริม ไวรัสซีเอ็มวี (CMV) ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบบี ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
    การติดเชื้อแบคทีเรีย : โรคไลม์ โรคซิฟิลิส วัณโรค กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ ไอกรน บาดทะยัก และคอตีบ
    การติดเชื้อรา : เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) เชื้อราบลาสโตไมซิส (Blastomyces) หรือโรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis)
    การติดเชื้อปรสิต : โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคขี้แมว และโรคพยาธิตืดหมู

โรคระบบภูมิคุ้มกัน

ปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลให้เกิดไขสันหลังอักเสบ เช่น

    โรคระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลต่อสารมัยอิลีน : โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis: MS) และโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ (Neuromyelitis Optica: NMO)
    โรคระบบภูมิคุ้มกันที่ก่อการอักเสบ : โรคพุ่มพวงหรือโรคลูปัส (Lupus) กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) โรคซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis) หรือโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย 

การวินิจฉัย Transverse Myelitis

ในเบื้องต้นนั้นแพทย์จะสอบถามถึงอาการที่เกิดขึ้น ประวัติทางสุขภาพ ร่วมกับประเมินผลทดสอบการทำงานของระบบประสาทจากวิธีการตรวจต่าง ๆ เช่น


การถ่ายภาพทางรังสี

การทำ CT Scan หรือ MRI Scan จะช่วยให้แพทย์มองเห็นการอักเสบบริเวณไขสันหลัง ปลอกหุ้มใยประสาทที่เสียหาย และความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อไขสันหลังหรือหลอดเลือด อาทิ ก้อนเนื้องอก หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือช่องไขสันหลังตีบแคบ


การเจาะน้ำไขสันหลัง

เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลัง หรือก็คือของเหลวบริเวณรอบไขสันหลังและสมองออกมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวและโปรตีนบางชนิดในน้ำไขสันหลังที่จะช่วยบ่งบอกถึงการอักเสบหรือการติดเชื้อในร่างกายได้


การตรวจเลือด

แพทย์จะตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อหาเชื้อโรคต้นเหตุของไขสันหลังอักเสบ หรือเพื่อยืนยันว่า ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่มักก่อให้เกิดอาการคล้ายคลึงกัน อย่าง โรคลูปัส การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ


การรักษา Transverse Myelitis

Transverse Myelitis ยังไม่มีวิธีรักษา จึงทำได้เพียงควบคุมและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นด้วยการใช้ยาและการบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายควบคู่กันไป อาทิ


การใช้ยา

ตัวอย่างยาที่แพทย์นำมาใช้มีดังนี้

    ยาสเตียรอยด์ อาจฉีดเข้าสู่หลอดเลือดโดยตรงหรือให้รับประทานเป็นยาเม็ด เพื่อลดอาการอักเสบบริเวณกระดูกสันหลัง หากยาสเตียรอยด์ใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจต้องกรองพลาสมาในเลือด (Plasmapheresis) โดยเป็นการนำพลาสมาไม่ดีทิ้งไปแล้วนำเม็ดเลือดแดงที่ดีและสารน้ำทดแทนเข้าสู่ร่างกาย     
    ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIg) เป็นแอนติบอดีของผู้มีสุขภาพดีที่จะถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เพื่อกำจัดแอนติบอดีที่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ 
    ยาต้านไวรัส แพทย์อาจจ่ายยาในกลุ่มนี้ให้หากผู้ป่วยเป็นไขสันหลังจากการติดเชื้อไวรัส
    ยาแก้ปวด อาการปวดเรื้อรังอันเป็นอาการแทรกซ้อนมักบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไปอย่างยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพรอกเซน ส่วนอาการปวดเส้นประสาทอาจรักษาด้วยยาต้านเศร้าและยากันชักบางชนิด
    ยารักษาภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจจ่ายยาที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาหรือควบคุมอาการแทรกซ้อนของแต่ละคน เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ทำงานผิดปกติ ภาวะซึมเศร้า ปัญหาทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น 
    ยาป้องกัน Transverse Myelitis กำเริบ เนื่องจากผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซ้ำหรือพัฒนาไปสู่โรคเส้นประสาทตาอักเสบได้ หากมีสาเหตุมาจากโรคเกี่ยวกับปลอกประสาท จึงต้องรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องตามดุลยพินิจของแพทย์

ทั้งนี้หากอาการที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการหายใจ ผู้ป่วยอาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันร่างกายขาดออกซิเจนและการเป็นอัมพาตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานที่พักฟื้น


การบำบัด

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดเพื่อฟื้นฟูและดูแลตัวเองในระยะยาว ดังนี้

    กายภาพบำบัด เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและยืดหยุ่นมากขึ้น ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ได้ รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การใช้ไม้เท้า วีลแชร์ เครื่องพยุงหลัง หรืออุปกรณ์พยุงร่างกายอื่น ๆ อย่างถูกวิธี
    กิจกรรมบำบัด จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยเรียนรู้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่ เช่น การแต่งตัว การทำอาหาร การอาบน้ำ หรือการทำความสะอาดบ้าน
    จิตบำบัด เป็นการพูดคุยเพื่อรักษาอาการวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมจากการอยู่ร่วมกับโรคนี้

อย่างไรก็ตามผู้ป่วย Transverse Myelitis ส่วนใหญ่มักดีขึ้นบางส่วนภายใน 3 เดือนแรก แต่บางคนอาจใช้เวลานานถึง 2 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจจะไม่หายดีเป็นปกติ โดยจะมีปัญหาในการเดิน ชาหรือรู้สึกเหมือนโดนของแหลมทิ่ม กระเพาะปัสสาวะและลำไส้มีปัญหา หรืออาจเป็นอัมพาตตลอดชีวิตในผู้ป่วยบางราย ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและวิธีการรักษาในช่วงแรก ๆ


ภาวะแทรกซ้อนของ Transverse Myelitis

ผู้ป่วย Transverse Myelitis อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการปวดในระยะยาว กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยมักพบมากบริเวณขาทั้งสองข้างและก้น เป็นอัมพาตบริเวณแขนหรือขาบางส่วนหรือทั้งหมด หย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยผู้ชายอาจมีปัญหาอวัยวะเพศแข็งตัวและจุดสุดยอด หรือผู้หญิงอาจถึงจุดสุดยอดได้ยาก รวมไปถึงภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลที่เป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ความเครียดจากอาการปวด หรือปัญหาความสัมพันธ์ทางเพศของผู้ป่วย

 
การป้องกัน Transverse Myelitis

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แท้จริงของ Transverse Myelitis จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่เฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ โดยควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพใด ๆ ที่อาจนำไปสู่การอักเสบที่ไขสันหลังได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น