ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจโรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)  (อ่าน 73 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 203
    • ดูรายละเอียด
ตรวจโรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)
« เมื่อ: วันที่ 5 กันยายน 2024, 15:54:45 น. »
ตรวจโรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)

โรคพยาธิตัวจี๊ดเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ด*

พบได้บ่อยในผู้ที่มีประวัติชอบกินกุ้งหรือปลาน้ำจืด กบ เขียด ปู งู นก เป็ด ไก่ หนู หรือเนื้อสัตว์ดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ

*วงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ด

ตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) โดยปกติพยาธิตัวเต็มวัย (ตัวแก่) จะอาศัยอยู่ในโพรงของก้อนทูมของกระเพาะอาหารของแมวและสุนัข ไข่พยาธิจะออกมาทางรูที่ติดต่อกับกระเพาะอาหาร และออกไปกับมูลของสัตว์เหล่านี้ ไข่จะเจริญและฟักเป็นพยาธิตัวอ่อนระยะที่ 1 ในน้ำ ซึ่งจะถูกกุ้งไร (cyclops) กิน แล้วเจริญต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 ในกุ้งไร เมื่อสัตว์น้ำจืด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีปีก หรือหนูกินกุ้งไร ตัวอ่อนของพยาธิก็จะเจริญต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ อาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งถ้าถูกแมวหรือสุนัขกินเข้าไป ก็จะเจริญเป็นตัวแก่อาศัยอยู่ในก้อนทูมของกระเพาะอาหาร แต่ถ้าคนกินตัวอ่อนระยะที่ 3 ในสัตว์น้ำจืด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีปีกหรือหนู พยาธิตัวอ่อนระยะที่ 3 ก็จะไม่อยู่ที่กระเพาะ แต่จะคืบคลานไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใต้ผิวหนัง ช่องท้อง ปอด ตา หู สมอง ไขสันหลัง เป็นต้น ทำให้เกิดการอักเสบและเสียหายตามอวัยวะต่าง ๆ ได้


สาเหตุ

การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ดระยะติดต่อ ที่พบในกุ้งหรือปลาน้ำจืด กบ เขียด ปู งู นก เป็ด ไก่ หนู หรือเนื้อสัตว์ดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ


อาการ

ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นรอยบวมแดง ๆ ตึง ๆ ตามผิวหนัง อาจมีอาการคันหรือปวดจี๊ด ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะแห่ง อาจเป็นส่วนไหนของร่างกายก็ได้ รอยบวมนี้จะมีขนาดไม่แน่นอน และเลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ เช่น บวมที่มือ แล้วค่อย ๆ เลื่อนไปที่แขน ไหล่ ปาก หน้า ตา จะบวมแห่งหนึ่งอยู่ 3-10 วัน (ชาวบ้านบางแห่งเรียกว่า โรคลมเพลมพัด) บางครั้งอาจมีไข้ขึ้น นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ ตามลักษณะการไชตัวของพยาธิ เช่น

ถ้าตัวจี๊ดไชเข้าไขสันหลัง จะมีอาการปวดเสียวมากตามแขนขา แขนขาจะเป็นอัมพาต ปัสสาวะไม่ออก และท้องผูก

ถ้าตัวจี๊ดไชขึ้นสมอง จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ซึม หมดสติ อาจถึงเสียชีวิตได้

ถ้าตัวจี๊ดไชเข้าลูกตา อาจทำให้ตาอักเสบ และตาบอดได้

ถ้าไชเข้าหู ทำให้ปวดหูอย่างมาก

ถ้าไชเข้าปอด ทำให้ปอดอักเสบ ปอดทะลุ มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือไอออกเป็นเลือด

ถ้าไชเข้าท้อง ทำให้มีก้อนในท้องเลื่อนที่ได้ อาจเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หรือปวดคล้ายไส้ติ่งอักเสบได้


ภาวะแทรกซ้อน

เกิดการอักเสบและการทำลายของอวัยวะต่าง ๆ ที่ตัวจี๊ดไชผ่าน

แต่ถ้าไชเข้าอวัยวะสำคัญ เช่น ตา (ทำให้ตาบอด), ปอด (ทำให้ปอดอักเสบ ปอดทะลุ), ไขสันหลัง (ทำให้เป็นอัมพาต)

ถ้าไชเข้าสมอง อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ และจะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเจาะเลือด (พบจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล* ขึ้นสูง) ทำการทดสอบทางน้ำเหลือง (serologic test) เพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อตัวจี๊ด และถ้าสงสัยตัวจี๊ดเข้าไขสันหลังหรือสมอง อาจต้องเจาะหลัง

*อีโอซิโนฟิล (eosinophil) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติจะมีอยู่ประมาณร้อยละ 1-6 ของจำนวนเม็ดเลือดขาวทุกชนิดที่อยู่ในกระแสเลือด ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคพยาธิต่าง ๆ อาจมีอีโอซิโนฟิลขึ้นสูงถึงร้อยละ 20-80


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ และให้ยาฆ่าพยาธิ-อัลเบนดาโซล

2. ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง จะรับตัวไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล และให้การแก้ไขตามอาการที่พบ

ถ้าตัวจี๊ดขึ้นมาอยู่ที่ผิวหนัง อาจรักษาด้วยการผ่านำตัวพยาธิออกมา


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีรอยบวมแดง ๆ ตึง ๆ ตามผิวหนัง มีขนาดไม่แน่นอนและเลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหู ปวดตา ตามัว ตาบอด หายใจหอบ ปวดท้องมาก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซึม หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อย ยำ ส้มฟัก หรือการย่างที่ไม่สุกเต็มที่ โดยเฉพาะที่ทำจากกุ้ง ปลาน้ำจืด กบ เขียด ปู งู นก เป็ด ไก่ หนู เป็นต้น
    ดื่มน้ำสุกหรือน้ำสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ดที่ตกปนอยู่ในน้ำ
    ล้างอุปกรณ์ (เช่น เครื่องบดเนื้อ มีด เขียง) ที่ใช้เตรียมเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ให้สะอาด ป้องกันไม่ให้มีตัวพยาธิเปรอะเปื้อน
    ป้องกันตัวจี๊ดไชเข้ามือด้วยการล้างมือด้วยสบู่หลังเตรียมอาหารเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นไปได้ควรใส่ถุงมือเวลาเตรียมอาหารประเภทนี้


ข้อแนะนำ

โรคนี้มักมีอาการบวมแดงที่ผิวหนัง และรักษาให้หายได้เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่ตัวจี๊ดอาจไชเข้าอวัยวะสำคัญ ทำให้เกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคตัวจี๊ดที่ผิวหนัง ควรเฝ้าระวังดูอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าตัวจี๊ดอาจไชเข้าอวัยวะสำคัญ ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ข้อสำคัญควรป้องกันไม่ให้รับอันตรายจากโรคนี้ด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ