ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (Cellulitis)  (อ่าน 70 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 202
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (Cellulitis)

เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึก (ชั้นไขมัน)

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ซึ่งติดมาจากทางเดินหายใจ และสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส นิวโมค็อกคัส เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (เช่น วิบริโอวาลนิฟิคัส*) เชื้อเข้าไปทางบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน)

ผู้ที่เป็นเบาหวาน เอดส์ กินยาสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ คนอ้วน หรือมีบาดแผลหรือโรคผิวหนัง (เช่น ผิวหนังอักเสบ อีสุกอีใส งูสวัด ฮ่องกงฟุต โซริอาซิสหรือสะเก็ดเงิน) แขนขาบวมเรื้อรัง หรือเคยเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบมาก่อน มีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบมากกว่าปกติ

*ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ถ้ามีการติดเชื้อวิบริโอวาลนิฟิคัส (Vibrio vulnificus) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้ออหิวาต์ เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ มีอัตราตายสูงถึงประมาณร้อยละ 50

การติดเชื้อมักเกิดจากการกินอาหารทะเล (เช่น หอยนางรม) ที่ปนเปื้อนเชื้อนี้แบบดิบ ๆ ในคนที่แข็งแรงดี มักแสดงอาการแบบอาหารเป็นพิษ คือ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน หลังกินอาหารทะเลประมาณ 16 ชั่วโมง แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำโดยเฉพาะถ้าเป็นตับแข็ง ก็มักจะกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ มีอาการไข้ หนาวสั่น ความดันเลือดตก ผิวหนังขึ้นเป็นตุ่มน้ำ (bleb) ถ้าเป็นรุนแรงจะเป็นตุ่มน้ำที่มีเลือดปน (hemorrhagic bleb)

นอกจากนี้ อาจเกิดจากการสัมผัสกับน้ำทะเลที่มีเชื้อนี้โดยตรง เช่น ลงเล่นน้ำทะเลขณะมีบาดแผลที่ผิวหนัง ถูกปะการังหรือเปลือกหอยบาดในน้ำทะเล เป็นต้น ผู้ป่วยจะแสดงอาการแบบเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังส่วนลึกอักเสบ ซึ่งต่อมาจะเกิดตุ่มน้ำ มีเนื้อตายเกิดขึ้น และเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ

ภาวะร้ายแรงนี้ ยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบชนิดอื่น เช่น วิบริโออัลจิโนไลติคัส (Vibrio alginolyticus) วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส (เชื้อชนิดหลังนี้จะมีอาการอาหารเป็นพิษร่วมด้วย ดู "อาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค" เพิ่มเติม)

ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำที่มีเลือดปน หลังกินอาหารทะเลแบบดิบ ๆ หรือหลังเล่นน้ำทะเล ควรคิดถึงภาวะร้ายแรงชนิดนี้ และส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ถ้าได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และการดูแลรอยโรคที่ผิวหนังได้ถูกต้องและทันท่วงที ก็มีโอกาสหายได้

ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการกินหอยนางรมและอาหารทะเลแบบดิบ ๆ และการเล่นน้ำทะเลขณะมีบาดแผลที่ผิวหนัง ถ้าหากเล่นน้ำทะเลแล้วเกิดบาดแผล ถูกหอยหรือปะการังบาด ควรรีบทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่และใส่ยาฆ่าเชื้อ (เช่น โพวิโดนไอโอดีน แอลกอฮอลล์) ทันที

อาการ

ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นแดงจัด ลามออกอย่างรวดเร็ว กดเจ็บ และคลำดูออกร้อน ขอบผื่นไม่ชัดเจน และไม่ยกนูนจากผิวหนังปกติ (จะกลืนไปกับผิวหนังปกติ) ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่บริเวณขาและเท้า อาจพบที่ใบหน้า แขน มือ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

อาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอาจโตและกดเจ็บ มีท่อน้ำเหลืองอักเสบเห็นเป็นเส้นสีแดง

บางรายอาจมีตุ่มน้ำหรือฝีร่วมด้วย ซึ่งเมื่อแตกจะมีเนื้อตายเกิดขึ้น

เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ
อาการแสดงของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ


ภาวะแทรกซ้อน

หากเป็นโรคนี้ซ้ำซาก อาจทำลายระบบทางเดินน้ำเหลือง ทำให้เท้าข้างเป็นโรคบวมเรื้อรังได้

เชื้ออาจลุกลามเข้าเนื้อเยื่อในชั้นที่อยู่ลึกลงไป ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง ทำให้เนื้อตาย และอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน กินยาสเตียรอยด์มานาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุอื่น

ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ (มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง) ซึ่งพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ถ้าจำเป็นแพทย์จะนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อ เอกซเรย์ หรือนำเลือดไปเพาะเชื้อในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อน พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ และยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูง และใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ

ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ไม่มีของแสลง ควรกินอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ให้มาก ๆ

ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าปวดหรือมีไข้

2. ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, อีริโทรไมซิน, โคอะม็อกซิคราฟ) ถ้าดีขึ้นให้ยาปฏิชีวนะต่อจนครบ 10 วัน

3. ถ้าไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือมีอาการรุนแรงหรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดระบายหนองหรือตัดเอาเนื้อตายออกไป

การดูแลตนเอง

หากสงสัยเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม เบื่ออาหาร หรือการอักเสบรุนแรงมากขึ้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

เมื่อมีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือ ฮ่องกงฟุต)

    ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป
    ทารอบแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน
    อย่าให้แผลถูกน้ำ หรือใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
    ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มาก ๆ
    กินอาหารได้ตามปกติ ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
    หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในทะเล และระวังไม่ให้แผลถูกน้ำทะเล
    ถ้าบาดแผลสกปรก แผลถูกสัตว์หรือคนกัด ถูกตะปู หรือถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกพอง หรือพบบาดแผลในผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม

ข้อแนะนำ

ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก หากปล่อยปละละเลย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นอันตรายได้