ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: Febrile Convulsion  (อ่าน 15 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 201
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: Febrile Convulsion
« เมื่อ: วันที่ 20 พฤศจิกายน 2024, 16:23:05 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: Febrile Convulsion

Febrile Convulsion หรือ Febrile Seizures เป็นอาการชักจากการมีไข้สูงในเด็ก ซึ่งมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อ โดยมักเกิดขึ้นกับทารกอายุประมาณ 6 เดือนไปจนถึงเด็กอายุ 3 ปี แม้ว่าภาวะชักจากไข้สูงในเด็กนี้อาจดูรุนแรง แต่อาการดังกล่าวมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และไม่ได้เป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงในภายหลัง


อาการของ Febrile Convulsion

อาการของ Febrile Convulsion จะแตกต่างกันไปตามประเภทของการชัก โดยสามารถแบ่งภาวะชักจากไข้ออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

ภาวะชักจากไข้แบบธรรมดา เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยอาการชักมักจะเป็นแบบเกร็งกระตุกทั่วทั้งตัว เกิดขึ้นประมาณ 1-2 นาที และอาจเกิดอย่างต่อเนื่องนานถึง 15 นาที แต่จะไม่มีอาการชักเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ อาจมีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้เกิดขึ้นร่วมด้วย

    ตาเหลือก
    ร้องคราง
    ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า
    อุจจาระหรือปัสสาวะราดขณะที่กำลังชัก
    เลือดไหลออกจากปาก เนื่องจากกัดปากหรือลิ้นในขณะที่กำลังชัก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงนอน หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือโมโหง่ายเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังอาการชักสิ้นสุดลงแล้ว 

ภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อน เป็นการชักที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนานกว่า 15 นาที โดยผู้ป่วยอาจมีอาการชักซ้ำภายใน 24 ชั่วโมงหลังการชักครั้งแรก หรือขณะที่เกิดอาการชักก็อาจมีอวัยวะเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้นที่กระตุก และเมื่ออาการชักสิ้นสุดลงแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการแขนหรือขาอ่อนแรงตามมา ซึ่งภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อนเป็นอาการที่พบได้น้อย และผู้ป่วยมักต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล


สาเหตุของ Febrile Convulsion

อุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ แต่ถึงแม้อุณหูมิร่างกายจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน

โดยสาเหตุต่อไปนี้มักทำให้เกิดอาการไข้จนอาจนำไปสู่ภาวะชักได้

    การติดเชื้อ ภาวะไข้ที่ทำให้เกิดอาการชักส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยมักเป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้ผื่นกุหลาบ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีไข้สูงจนเป็นเหตุให้เกิดอาการชักได้ แต่อาการชักจากภาวะไข้ก็อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน แม้จะพบได้ไม่บ่อยนักก็ตาม   
    การฉีดวัคซีน หลังจากได้รับการฉีควัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน และวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีไข้แล้วทำให้เกิดอาการชักได้

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ ดังนี้

    อายุ อาการชักจากไข้มักเกิดขึ้นในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี โดยช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 12-18 เดือน
    ประวัติครอบครัว ผู้ป่วยที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเกิดอาการชักขณะเป็นไข้นั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการชักจากไข้มากกว่าคนทั่วไป และนักวิจัยยังค้นพบยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะชักจากไข้อีกด้วย จึงคาดว่าพันธุกรรมอาจมีส่วนในการเกิดภาวะนี้


การวินิจฉัย Febrile Convulsion

สำหรับการวินิจฉัยภาวะ Febrile Convulsion แพทย์จะซักถามอาการอย่างละเอียด ตรวจประวัติทางการแพทย์ รวมทั้งประวัติพัฒนาการเด็กด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าอาการชักที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการชักได้เหมือนกัน หากยังไม่สามารถหาสาเหตุในเบื้องต้นได้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับผู้ป่วย หรือมีภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน แพทย์อาจพิจารณาให้มีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

    การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นการตรวจการทำงานของสมองผ่านขั้วไฟฟ้าที่ติดอยู่กับหนังศีรษะ โดยการทำงานที่ผิดปกติของสมองอาจช่วยวินิจฉัยอาการชักจากไข้ได้
    การเจาะน้ำไขสันหลัง ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อในสมองหรือระบบประสาท แพทย์อาจเก็บตัวอย่างของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังไปส่งตรวจ
    การสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) แพทย์อาจสั่งตรวจสมองของผู้ป่วยด้วยการทำเอ็มอาร์ไอสแกน หากผู้ป่วยมีศีรษะที่ใหญ่ผิดปกติ มีความผิดปกติทางระบบประสาท มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง และมีอาการชักจากไข้ที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานผิดปกติ


การรักษา Febrile Convulsion

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการชักจากไข้จะหายไปเองภายในไม่กี่นาที โดยผู้ปกครองของเด็กควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ในขณะที่ผู้ป่วยเกิดอาการชัก

    ค่อย ๆ พลิกตัวเด็กให้นอนตะแคงข้างในบริเวณที่ปลอดภัย
    ห้ามนำสิ่งของใด ๆ เข้าปากเด็ก
    จับเวลาในขณะที่เกิดอาการชัก
    สังเกตอาการและอยู่กับเด็กอย่างใกล้ชิด
    เก็บวัตถุที่แข็งและแหลมคมให้ห่างไกลจากตัวเด็ก
    ปลดเครื่องประดับและเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก
    อย่าพยายามจับหรือมัดตัวเพื่อหยุดอาการชัก

ทั้งนี้ หากเด็กมีอาการชักนานต่อเนื่องกว่า 5 นาที หรือมีภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อน ควรรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์อาจให้ยานอนหลับไดอะซีแพมในรูปแบบยาเหน็บทางทวารหนักแก่ผู้ป่วย


ภาวะแทรกซ้อนของ Febrile Convulsion

โดยปกติแล้ว Febrile Convulsion มักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่สร้างความเสียหายแก่สมอง อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาและความบกพร่องในการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในขณะที่เกิดอาการชัก เพราะอาจเกิดการสำลักจากอาหารหรือน้ำลายภายในช่องปากได้ และอาจเกิดอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ด้วยเช่นกัน   

นอกจากนี้ ภาวะชักจากไข้เป็นอาการชักที่มีปัจจัยชักนำ จึงไม่ถือว่าเป็นสัญญาณของโรคลมชัก เนื่องจากโรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าในสมอง และสามารถเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยชักนำให้เกิดอาการ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาวะ Febrile Convulsion


การป้องกัน Febrile Convulsion

อาการชักจากไข้แต่ละประเภทมีวิธีป้องกันแตกต่างกันไป ซึ่งภาวะชักจากไข้แบบธรรมดามักไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นการชักเพียงครั้งเดียว และมักไม่ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านชักเพื่อควบคุมอาการชัก แต่อาจต้องใช้ยาต้านชักเพื่อป้องกันอาการในผู้ป่วยที่มีภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อนหรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองอาจช่วยลดไข้เด็กเพื่อป้องกันการเกิด Febrile Convulsion ได้ด้วยการปลดเสื้อผ้าออกให้เหลือเพียงแค่ชั้นเดียว เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวขึ้น และระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป