ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: คีลอยด์/แผลปูด (Keloid)  (อ่าน 3 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 190
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: คีลอยด์/แผลปูด (Keloid)
« เมื่อ: วันที่ 11 พฤศจิกายน 2024, 15:47:54 น. »
หมอประจำบ้าน: คีลอยด์/แผลปูด (Keloid)

คีลอยด์ (แผลปูด) หมายถึง แผลเป็นที่ปูดโปนมีขนาดใหญ่กว่าแผลเป็นธรรมดา เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเฉพาะคนบางคน คนที่เคยเป็นคีลอยด์ เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นก็มักจะกลายเป็นคีลอยด์ได้อีก

สาเหตุ

เกิดจากการงอกผิดปกติของเนื้อเยื่อผิวหนังส่วนที่เป็นแผล อาจเกิดกับบาดแผลได้ทุกชนิด เช่น บาดแผลผ่าตัด บาดแผลที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ถูกแมงกะพรุนไฟ ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย รอยฉีดวัคซีนบีซีจี รอยสิว รอยเจาะหู รอยสัก รอยแผลอีสุกอีใส เป็นต้น เมื่อแผลหายใหม่ ๆ อาจมีลักษณะเป็นปกติธรรมดา แต่ต่อมาอีกหลายสัปดาห์จะค่อย ๆ งอกโตขึ้นจนเป็นแผลปูด บางครั้งคีลอยด์อาจเกิดจากแผลเป็นธรรมดาที่มีอยู่เดิมมานานหลายปี หรือเกิดในบริเวณที่ไม่มีรอยแผลเป็นมาก่อนก็ได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังส่วนที่เป็นแผลงอกผิดปกตินั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

พบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นคีลอยด์ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงกว่าปกติ จึงเชื่อว่าโรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์


อาการ

มีลักษณะเป็นก้อนเนื้องอก แข็งและหยุ่น ๆ คล้ายยาง เป็นรูปไข่แผ่ออกคล้ายก้ามปู มีสีแดงหรือชมพู ผิวมัน อาจมีอาการคัน และกดเจ็บ ก้อนอาจคงที่ หรือค่อย ๆ โตขึ้นก็ได้ มักไม่หายเอง

มักพบเพียงหนึ่งก้อน แต่ก็อาจพบหลายก้อนได้ สามารถพบได้ทุกแห่งของร่างกาย แต่จะพบมากบริเวณหน้าอก หลัง ไหล่ แขนและขา


ภาวะแทรกซ้อน

ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากทำให้รู้สึกไม่สวยงาม


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบเป็นหลัก

หากสงสัยว่าเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ แพทย์จะทำการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

ถ้าขึ้นในบริเวณที่มิดชิดหรือไม่มีลักษณะที่น่าเกลียด ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด นอกจากถ้ามีอาการคันให้ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ แต่ถ้าก้อนโตน่าเกลียด หรือทำให้ขาดความสวยงาม อาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เช่น ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ (triamcinolone acetonide) เข้าไปในแผลคีลอยด์ อาจช่วยให้แผลเป็นฝ่อเล็กลงได้บ้าง

ในรายที่มีขนาดใหญ่อาจต้องทำการผ่าตัด แล้วฉีดยาสเตียรอยด์เมื่อแผลเริ่มหายภายใน 1-2 สัปดาห์

นอกจากนี้อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น รังสีบำบัด (ฉายรังสี), การผ่าตัดด้วยความเย็นที่เรียกว่า ไครโอเซอเจอรี (cryosurgery) การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นต้น


การดูแลตนเอง

ถ้าเป็นแผลขนาดเล็ก ไม่มีอาการปวด หรือคัน และไม่โตขึ้น ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดหรือคัน
    แผลโตขึ้น หรือรู้สึกไม่สวยงาม 
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

การป้องกัน

ผู้ที่เป็นแผลคีลอยด์ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดบาดแผลโดยไม่จำเป็น เช่น การสัก การเจาะหู การบีบหรือแกะสิว เป็นต้น

ข้อแนะนำ

1. คีลอยด์เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่มะเร็งหรือเนื้อร้าย และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

2. คีลอยด์จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนบางคนเท่านั้น ซึ่งผิวหนังจะมีธรรมชาติแตกต่างไปจากคนปกติ เมื่อมีบาดแผลก็จะทำให้เกิดเป็นแผลปูด ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการกินของแสลง (เช่น เนื้อ ไข่) ดังที่ชาวบ้านเข้าใจกันแต่อย่างใด

3. ห้ามรักษาคีลอยด์ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเป็นอันขาด (โดยไม่ฉีดยาสเตียรอยด์ตามใน 1-2 สัปดาห์ต่อมา) เพราะแผลเป็นที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นคีลอยด์ที่ใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิมได้อีก