ผู้เขียน หัวข้อ: การทำบุญคืออะไร? ทำน้อยได้มากมีจริงไหม ทำบุญแบบไหนถึงอานิสงค์แรง  (อ่าน 28 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 203
    • ดูรายละเอียด
การทำบุญคืออะไร? ทำน้อยได้มากมีจริงไหม ทำบุญแบบไหนถึงอานิสงค์แรง

เชื่อว่าชาวพุทธแทบทุกคน คงพอเข้าใจกันอยู่แล้วว่า การทำบุญคืออะไร และคงมีภาพในใจ เช่น ตักบาตร ถวายภัตตาหารให้พระ ปล่อยปลา ให้อาหารปลา ทำบุญบริจาค และอีกมากมาย ผุดขึ้นมา ทั้งนี้ ในบรรดาการทำบุญทั้งหลายที่ว่ามา การทำบุญแบบไหนที่ได้อานิสงส์แรง?

หากจะตอบคำถามนี้ให้ได้ดี เรากลับมาที่จุดเริ่มต้นหรือความหมายของการทำบุญกันก่อนดีกว่า

การทำบุญคืออะไร

การทำบุญ หมายถึง การประกอบให้ความดีเกิดขึ้น ซึ่งมาจากคำว่า “บุญ” (บาลี: ปุญฺญ) หรือ บุณย์ (สันสกฤต: ปุณฺย) ที่หมายถึง ความดี ตรงกันข้ามกับคำว่า บาป (บาลี: อปุญฺญ)

ในพระไตรปิฎกได้ระบุวิธีการทำบุญ ไว้ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

ทานมัย หรือ การให้ทาน

หมายถึง การสละ การมอบ การบริจาคสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้อื่นหรือแก่สัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็นทำบุญเลี้ยงพระ การตักบาตร ถวายสังฆทาน การบริจาคเงิน/สินทรัพย์ การทำโรงทาน การบริจาคอาหาร เป็นต้น

สีลมัย หรือ การถือศีล

หมายถึง การประพฤติปฏิบัตตนให้อยู่ในศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 ศีล 8 หรือการถือศีลของพระสงฆ์ 227 ข้อ

ภาวนามัย หรือ การเจริญภาวนา

หมายถึง การฝึกอบรมและขัดเกลาจิตใจของตัวเองให้ใสสะอาดยิ่งขึ้น อาจทำได้ผ่านการสวดมนต์ การเจริญสมาธิ การเจริญวิปัสนาหรือการมองโลกตามความเป็นจริง

การทำบุญทั้งสามข้อข้างต้นถือเป็นเสาหลักของการทำบุญในพุทธศาสนา เรียงจากการทำบุญที่ทำได้ง่ายไปยาก โดยเป้าหมายของการทำบุญนั้น คือ การขัดเกลาจิตใจให้สะอาดเพื่อให้ได้ “ปัญญา” ที่จะใช้หลุดพ้นจากทุกข์หรือเข้าถึงนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธนั้นเอง

นอกจากการทำบุญ “ทาน ศีล สมาธิ” แล้ว ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสังคีติสูตร ยังได้ขยายความเกี่ยวกับวิธีทำบุญเพิ่มเติม เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” มีดังนี้

การให้ทาน (ทาน)

หมายถึง การเผื่อแผ่แบ่งปันสินทรัพย์ ข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดให้กับผู้อื่น เช่น การตักบาตร การถวายสังฑทาน การให้ทานกับผู้อื่น การเลี้ยงอาหารผู้อื่น การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้อื่น

การรักษาศีล (สีล)

หมายถึง การประพฤติตนให้อยู่ในศีลหรือข้อบัญญัติทางศาสนาที่กำหนดให้เราสำรวมกายและวาจา ไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่น

การภาวนา (ภาวนา)

หมายถึง การมุ่งฝึกฝนจิตใจให้เกิดปัญญา สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การนั่งสมาธิ การวิปัสนา การมองและพิจารณาโลกตามความเป็นจริง การสวดมนต์ ฯลฯ เพื่อน้อมนำจิตใจของเราไปสู่สิ่งที่มงคล

การอ่อนน้อมถ่อมตน (อปจายนะ)

ไม่ว่าจะเป็นการอ่อนน้อมต่อผู้อาวุโส การอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมไปถึงการให้เกียรติให้ความเคารพต่อผู้อื่น ก็ถือเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะการอ่อนน้อมถ่อมตนคือการขัดฝึกประพฤติตนและการขัดเกลาจิตใจเช่นกัน

การขวนขวายช่วยทำในกิจที่ชอบ (เวยยาวัจจะ)

หมายถึง กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคม เช่น ช่วยถือของ ช่วยเพื่อนทำงาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ช่วยสอดส่องดูแลบ้านของเพื่อนบ้านเมื่อเขาไม่อยู่ ช่วยทำงานต่าง ๆ ในงานเลี้ยงพระ ฯลฯ บุญข้อนี้คล้ายกับการทำทานมัย ช่วยให้เกิดความรักความเมตตาและความสามัคคีขึ้นได้

การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา (ปัตติทาน)

หมายถึง การชวนหรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มาร่วมทำบุญกับกิจกรรมที่เราทำอยู่ เช่น ชวนให้มาร่วมทำบุญเลี้ยงเพลพระ เปิดโอกาสให้คนร่วมบุญกฐิน/ทอดผ้าป่า ฯลฯ รวมไปถึงการบอกบุญให้ผู้อื่นได้ร่วมยินดีหรือร่วมอนุโมทนาด้วย

การอนุโมทนาส่วนบุญ​ (ปัตตานุโมทนา)

หมายถึง การร่วมยินดีในการทำความดีหรือบุญที่ผู้อื่นได้ทำไป รู้สึกชื่นชมยินดีตาม ไม่คิดอิจฉาในความดีของผู้อื่น ก็ช่วยให้อิ่มใจอิ่มบุญไปด้วย

การฟังธรรม (ธัมมัสสวนะ)

เป็นวิธีการทำบุญเพื่อเพิ่มพูนความรู้และปัญญาเพื่อที่จะพ้นทุกข์ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องไปวัดเพื่อฟังพระเทศน์เท่านั้น การฟังธรรมยังสามารถทำได้ที่บ้าน ผ่านการฟังธรรมเทศนาบนอินเทอร์เน็ต เทปเสียง การอ่านหนังสือธรรมะ รวมไปถึงการเสวนาธรรมากับผู้อื่น

การแสดงธรรม (ธัมมเทศนา)

หมายถึง การให้ข้อคิด หลักธรรม ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการพูดถึงเพียงหลักธรรมตามพระไตรปิฎกเท่านั้น อาจเป็นการแบ่งปันวิธีคิดวิธีจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยให้ผู้ฟังได้สติปัญญาในการก้าวผ่านความทุกข์

การทำความเห็นให้ถูกต้อง (ทิฏฐุชุกัม)

หรือการไม่ถือทิฐิ ไม่เอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ ยอบรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น รับฟังและมองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่เจือปนไปด้วยอคติหรือความลำเอียงทั้งจากความชอบหรือเกียจ

จากวิธีการทำบุญทั้งหมด 10 ข้อ จะเห็นได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์ในการทำบุญเลยก็ได้ การทำบุญสามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น การอ่อนน้อมถ่อมตนและการทำความเห็นให้ถูกต้อง ที่สามารถทำได้ในทันที โดยไม่ต้องใช้เงินหรือเวลา แม้เป็นคนยาก ก็สามารถทำบุญได้เช่นกัน

อยากทำบุญให้ได้อานิสงค์แรง ต้องทำอะไรและทำอย่างไร ?

ทำบุญอะไรแล้วได้อานิสงส์แรง? น่าจะเป็นอีกคำถามสำหรับสายบุญหลาย ๆ คน ซึ่งคนไทยเองก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญบางประเภทที่ได้อานิสงส์แรงกว่าการทำบุญด้วยวิธีอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น

    การทำบุญบริจาคโรงศพ
    การทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือหรือสัตว์ใหญ่
    การปรนนิบัติพระในบ้านหรือบุพพการี
    การบริจาคร่างกาย
    การให้ธรรมเป็นทาน เช่น พิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นทาน
    การบวชเป็นพระ

    ทั้งนี้ การทำบุญไม่ได้มีระบุค่าของ “บุญ” ไว้ว่า ทำอะไรทำอย่างไรได้มากกว่า เพราะเป้าหมายของการทำบุญ คือ การชำระจิตใตให้ปราศจากความเศร้าหมอง ดังนั้น อีกการทำบุญหนึ่งที่เชื่อว่าได้บุญมากที่สุดคือ “การทำสมาธิ” หรือภาวนามัย ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

    “แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล 227 ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง 100 ปี

    ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่า ผู้ที่ทำสมาธิ เพียงให้จิตสงบนานเพียง ชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู”

    เปรียบเทียบถึงบุญจากการทำสมาธิที่ยิ่งใหญ่กว่าการถือศีลของเพศบรรพชิต เพราะนอกจากการทำสมาธิจะช่วยขัดเกลาให้จิตใจใสบริสุทธิ์ การทำสมาธิยังช่วยให้จิตเป็นกำลังเพื่อที่จะมองโลกตามความเป็นจริงหรือได้ “ปัญญา” ที่จะพ้นไปจากทุกข์นั่นเอง

    ทําบุญตักบาตรอย่างไรจึงได้อานิสงส์แรง

    การทำบุญไม่ว่าจะทำด้วยวิธีไหน อานิสงส์จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ทำ หากทำบุญด้วยจิตที่บริสุทธิ์ก็จะยิ่งได้อานิสงส์มาก ทั้งนี้ อานิสงส์ของการทำบุญอย่างการทำบุญตักบาตร จะได้อานิสงส์มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่

    ความรู้สึกของผู้ทำบุญ

    หรือความรู้สึกต่อการตักบาตรในขณะต่าง ๆ ที่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นก่อนถวายมีจิตใจที่ต้องการเสียสละที่แท้จริง ไม่เกิดความตระหนี่หรือหวงแหน และไม่เบียดเบียนตัวเอง ขณะตักบาตร/ถวาย มีจิตใจที่เลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ และสุดท้ายหลังจากถวาย มีความรู้สึกยินดี เบิกบานใจ ไม่รู้สึกเสียดายหรืออาลัยต่อสิ่งที่สละไป

    ผู้รับ

    หมายถึง พระสงฆ์ สามเณร เป็นผู้ที่อยู่ในความสำรวม คลองตนอยู่ในวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และมีจิตใจที่ร่วมยินดีกับการทำบุญของผู้ที่ตักบาตร

    สิ่งของที่นำมาตักบาตรหรือถวาย

    โดยสิ่งของหรืออาหารที่นำไปถวายต้องเป็นสิ่งที่ได้มาอย่างสุจริต ไม่ใช่สิ่งที่ไปเบียดเบียนผู้อื่นและตัวเองเพื่อให้ได้มา รวมไปถึงต้องเป็นสิ่งของที่เหมาะสมที่จะมอบให้ ไม่ใช่สิ่งของหรืออาหารที่ให้โทษต่อผู้รับ

    หากครบองค์ประกอบทั้งสามข้อข้างต้น การตักบาตรนั้นก็จะได้อานิสงส์มาก อย่างไรก็ตาม ในการทำบุญสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ คือ ความรู้สึกระหว่างตักบาตรของเราและของที่เลือกนำไปถวาย หากเรามีใจศรัทธา เลื่อมใส และมีความปราถนาดี พร้อมกับตั้งใจเลือกสรรอาหาร สิ่งของมาตักบาตร แม้ว่าจะเป็นเพียงข้าวสวย น้ำเปล่า 1 ขวด อานิสงส์ที่ได้ก็ย่อมมากตามความตั้งใจนั้น

    และนอกจากการทำบุญแล้ว หากเราได้ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับดวงจิตอื่น ๆ ด้วย จิตใจที่เปี่ยมเมตตาย่อมนำพาอานิสงส์มาให้อย่างแน่นอน

    สิ่งสำคัญในการทำบุญ คือ จิตใจของผู้ทำบุญที่มีความเลื่อมใสศรัทธาและต้องการกล่อมเกลาจิตใจให้สะอาด พ้นไปจากทุกข์ ดังที่เขาว่า “จิตเป็นบุญ เป็นกุศล” จะทำอะไรก็ย่อมได้บุญ ได้กุศล ไม่ว่าจะตักบาตรพระ ทำบุญบริจาคให้กับผู้ยากไร้ ปล่อยปลา บริจาค หรือสวดมนต์นั่งสมาธิ ฯลฯ หากตั้งจิตใจถูก อานิสงส์ก็แรงอย่างแน่นอน