ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: คอตีบ/ดิฟทีเรีย (Diphtheria)  (อ่าน 6 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 173
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: คอตีบ/ดิฟทีเรีย (Diphtheria)
« เมื่อ: วันที่ 24 ตุลาคม 2024, 15:12:37 น. »
Doctor At Home: คอตีบ/ดิฟทีเรีย (Diphtheria)

โรคคอตีบ หรือ ดิฟทีเรีย (diphtheria) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นฉับพลันและร้ายแรง พบได้ประปรายตลอดปี บางครั้งอาจพบระบาด

ปัจจุบันพบผู้ป่วยคอตีบน้อยมาก เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างทั่วถึง ผู้ป่วยที่พบนั้นมักมีประวัติไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันหรือฉีดไม่ครบ ซึ่งมักเป็นกลุ่มเด็กที่ยากจน หรืออาศัยอยู่บริเวณชายแดน หรือกลุ่มคนอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน และส่วนมากจะพบในเด็กอายุ 1-10 ปี

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อคอตีบ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า โครินแบคทีเรียมดิฟทีเรีย (Corynbacterium diphtheriae) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะของโรค ส่วนมากติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด       

เชื้อคอตีบจะปล่อยสารพิษ (exotoxin) ออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะเยื่อบุคอหอย กล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาท     

ระยะฟักตัว ประมาณ 1-7 วัน (เฉลี่ย 3 วัน)

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน และมีท่าทางอ่อนเพลียมาก

ถ้ามีการอักเสบของกล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงแหบ ไอเสียงก้อง (คล้ายเสียงเห่าหรือเสียงร้องของแมวน้ำ) มีเสียงฮื้ด (stridor)*ตอนหายใจเข้า หายใจลำบาก ตัวเขียว

ในรายที่มีการอักเสบของโพรงจมูก (ซึ่งพบได้ส่วนน้อย) อาจทำให้มีเลือดปนน้ำเหลืองไหลออกจากจมูกซึ่งส่วนใหญ่จะออกจากรูจมูกเพียงข้างเดียว

* เป็นเสียงที่เกิดจากลมหายใจวิ่งผ่านรูกล่องเสียงที่ตีบแคบ เนื่องจากกล่องเสียงมีการอุดกั้นจากเยื่อบุผิวที่อักเสบบวม หรือจากสาเหตุอื่น ทำให้เกิดเสียงดังฮื้ดในช่วงจังหวะของการหายใจเข้า บางครั้งอาจเกิดตามหลังอาการไอ เสียงฮื้ดนี้พบได้ในโรคคอตีบ ครู้ป สำลักสิ่งแปลกปลอม ไอกรน กล่องเสียงบวมจากการแพ้รุนแรง (angioedema) เนื้องอกที่กล่องเสียง ฝากล่องเสียงอักเสบ (epiglottitis) เป็นต้น
 

เสียงฮื้ด ต่างจากเสียงวี้ด (wheezing) ซึ่งเกิดจากลมวิ่งผ่านหลอดลมที่ตีบ เช่น โรคหืด หลอดลมพอง หลอดลมอักเสบ มีเสียงดังวี้ดในช่วงจังหวะของการหายใจออก


ภาวะแทรกซ้อน

ที่ร้ายแรง คือ ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เนื่องจากแผ่นเยื่อปิดกั้นกล่องเสียง ซึ่งจะพบในวันที่ 2-3 ของโรค หากไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการเจาะคอช่วยหายใจได้ทันท่วงที ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเส้นประสาทอักเสบ (neuritis) จากสารพิษที่เชื้อปล่อยออกมา

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10-14 ของการเจ็บป่วย (แต่อาจพบได้ระหว่างสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 6) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการคอวัว ทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ) ถ้ารุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจวาย และอาจทำให้เสียชีวิตอย่างฉับพลัน (มีอัตราตายจากภาวะนี้สูงถึงร้อยละ 50)

เส้นประสาทอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นอัมพาต ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนลำบาก พูดเสียงขึ้นจมูก ขย้อนน้ำและอาหารออกทางจมูก (เนื่องจากกล้ามเนื้อเพดานอ่อนเป็นอัมพาต มักมีอาการตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของโรค) หรืออาจมีอาการตาเหล่ เห็นภาพซ้อน (เนื่องจากกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต มักมีอาการในสัปดาห์ที่ 5 ของโรค) หรืออาจทำให้แขนขาเป็นอัมพาต (มักพบในสัปดาห์ที่ 6-10 ของโรค) อาการเหล่านี้มักเป็นเพียงชั่วคราวและหายได้ในที่สุด

บางรายอาจมีอาการอัมพาตของกะบังลม ทำให้หายใจลำบาก อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ มักพบในสัปดาห์ที่ 5-7 ของโรค

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ ไตทำงานผิดปกติ (ตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ ปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น)
 

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

มักตรวจพบไข้ 38.5-39 องศาเซลเซียส หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็ว

การตรวจคอ มักพบแผ่นเยื่อสีเทาหรือเหลืองปนเทา (gray/grayish yellow pseudomembrane) แลดูคล้ายเศษผ้าสกปรกยึดติดแน่นกับเนื้อเยื่อปกติอยู่บนทอนซิล คอหอยลิ้นไก่ และเพดานปาก ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าฝืนเขี่ยจะทำให้มีเลือดออกได้

ต่อมน้ำเหลืองที่คอมักจะโต

บางรายอาจมีอาการคอบวมมาก คล้าย ๆ คอวัว เรียกว่า อาการคอวัว (bull neck) ซึ่งบางรายอาจกดทับหลอดเลือดดำที่คอ ทำให้ใบหน้ามีสีคล้ำจากการมีเลือดคั่ง

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการนำหนองในลำคอไปตรวจย้อมดูเชื้อและเพาะเชื้อ อาจตรวจเลือด (พบเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในรายที่สงสัยว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล นอกจากให้การรักษาตามอาการแล้ว ที่สำคัญ คือ ให้ยาต้านพิษคอตีบ และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินจีชนิดฉีด หรือ อีริโทรไมซินชนิดกิน

ในรายที่หายใจลำบาก อาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ

ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ก็จะหายได้ภายใน 1-2 เดือน แต่ถ้าได้รับการรักษาช้าไป ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง หรือเสียชีวิตได้


การดูแลตนเอง

1. หากมีอาการไข้ เจ็บคอ หายใจลำบาก หรือสงสัยเป็นโรคคอตีบ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคคอตีบ ควรรับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล ปฏิบัติตามคำแนะนำ และแนวทางการรักษาของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

2. เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ควรปฏิบัติ ดังนี้

    กินยา ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และไปตรวจกับแพทย์ตามนัด
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ใช้แรงมาก
    เฝ้าสังเกตตัวเองอย่างใกล้ชิด
    ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด หากมีอาการผิดปกติ (เช่น แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น) หรือกินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)

3. ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรไปพบแพทย์เพี่อทำการป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้


การป้องกัน

1. โรคนี้สามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP) ตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน

2. สำหรับผู้สัมผัสโรค หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการป้องกัน โดย

    ทำการเพาะเชื้อจากคอหอย ติดตามอาการเป็นเวลา 7 วัน และให้ยาอีริโทรไมซิน กินป้องกันนาน 7 วัน
    ฉีดวัคซีนป้องกันถ้าไม่เคยฉีดมาก่อน ถ้าเคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนและเข็มสุดท้ายได้รับมานานเกิน 5 ปี มาแล้ว ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น

ข้อแนะนำ

1. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก และทำการกำจัดน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย

2. เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเส้นประสาทอักเสบแทรกซ้อน เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรระวังอย่าให้ร่างกายตรากตรำ จนกว่าจะปลอดภัยและควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

3. เชื้อคอตีบอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่ผิวหนังได้ ถ้าพบแผลเรื้อรังในคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยคอตีบก็อย่าลืมนึกถึงสาเหตุจากเชื้อคอตีบ ดกทดก