ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)  (อ่าน 107 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 272
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
« เมื่อ: วันที่ 9 ตุลาคม 2024, 19:27:20 น. »
หมอประจำบ้าน: กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)

กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) คือ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไตซึ่งอยู่ระหว่างไตกับท่อไต ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเร่งด่วน เนื่องจากอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

กรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเด็กและผู้ที่มีระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน อาจเสี่ยงเป็นกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรังได้มากกว่าคนทั่วไป


อาการของกรวยไตอักเสบ

ผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบอาจแสดงอาการป่วยที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปอาการของโรคกรวยไตอักเสบ มีดังนี้

    มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
    รู้สึกหนาวสั่น
    เจ็บปวดบริเวณหลังหรือสีข้าง ปวดท้อง
    คลื่นไส้ อาเจียน
    ปัสสาวะบ่อย รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ
    ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น มีสีขุ่น มีหนองหรือเลือดปนมากับปัสสาวะ
    หากเกิดการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ อาจมีหนองหรือสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศ

สาเหตุของกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. Coli) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบต่อเนื่องของกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ บางกรณีเชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายเข้าสู่กรวยไตผ่านทางกระแสเลือดได้ โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อในข้อเทียมหรือลิ้นหัวใจเทียม

ผู้ที่มีความเสี่ยงเผชิญภาวะกรวยไตอักเสบ ได้แก่

    เพศหญิง ผู้หญิงเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่า และอยู่ใกล้ช่องคลอดกับทวารหนัก
    ผู้ที่ตั้งครรภ์ เพราะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น และความดันท่อไตสูงขึ้น หรือกรวยไตอาจอุดตันจากการถูกมดลูกกดเบียด ทำให้เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น
    ผู้ที่มีระบบทางเดินปัสสาวะอุดตันหรือมีโครงสร้างระบบทางเดินปัสสาวะที่ผิดปกติ ซึ่งทำให้ปัสสาวะไม่สะดวก เช่น ผู้ที่มีนิ่วในไต ระบบทางเดินปัสสาวะตีบ และผู้ชายที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต
    ผู้ที่กำลังติดเชื้อหรือเคยติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
    ผู้ที่มีเส้นประสาทหรือไขสันหลังรอบกระเพาะปัสสาวะเสียหาย
    ผู้ที่เคยใช้สายสวนปัสสาวะ เช่น เคยรับการผ่าตัด วินิจฉัยโรค หรือพักฟื้นในโรงพยาบาล
    ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ ซึ่งปัสสาวะบางส่วนจะไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะเข้าสู่ท่อไตและไตข้างใดข้างหนึ่งหรือไตทั้งสองข้าง โดยมักพบในเด็กเล็กที่มีความผิดปกติลักษณะนี้แต่กำเนิด
    ผู้ที่เคยได้รับการส่องกล้องหรือเคยรับการผ่าตัดในระบบทางเดินปัสสาวะ
    ผู้ที่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน หรือดื่มน้ำน้อย ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานเกินไป
    ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียในกระดูก ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ แล้วเชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กรวยไต หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
    ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เอดส์ หรือมะเร็ง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันร่างกายมีปฏิกิริยาต่ออวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย

ผู้ที่ติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งโรคนี้มีความเสี่ยงสูงในกลุ่มผู้ที่มีคู่นอนหลายคน


การวินิจฉัยกรวยไตอักเสบ

แพทย์มักวินิจฉัยกรวยไตอักเสบด้วยการตรวจร่างกายหาอาการไข้ ปัสสาวะขุ่น กดเจ็บบริเวณท้อง และอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ และอาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหนอง เลือด หรือเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนในปัสสาวะ หรืออาจตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ
    การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ ในเลือด
    การตรวจด้วยรังสีวิทยา แพทย์อาจวินิจฉัยโรคกรวยไตอักเสบด้วยการอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์ระบบทางเดินปัสสาวะ (Voiding Cystourethrogram) เพื่อตรวจหาซีสต์ เนื้องอก หรือการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายใน 72 ชั่วโมง แพทย์อาจต้องตรวจภาพฉายรังสีจากซีที สแกน เพื่อวินิจฉัยการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจตรวจแผลเป็นที่เกิดจากกรวยไตอักเสบด้วยการใช้สารกัมมันตรังสีหรือการส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้ การตรวจเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

การรักษากรวยไตอักเสบ

การรับประทานยาและดูแลอาการด้วยตนเองที่บ้าน การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นพื้นฐานการรักษากรวยไตอักเสบโดยทั่วไป ซึ่งแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะที่เจาะจงรักษาเชื้อแบคทีเรียชนิดใดชนิดหนึ่งหากสามารถระบุชนิดของเชื้อโรคได้ หรืออาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์กว้างหากไม่สามารถระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรียได้ โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 10-14 วัน แม้อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วันแรกแล้วก็ตาม ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ตรวจปัสสาวะซ้ำหลังการรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อแล้ว เพราะหากยังพบการติดเชื้อ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษากรวยไตอักเสบ ได้แก่ ลีโวฟลอกซาซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน ซัลฟาเมท็อกซาโซล ไทรเมโทพริม และแอมพิซิลลิน

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน เพืื่อบรรเทาอาการบางอย่างตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ถูกต้องและเคร่งครัดตามคำสั่งแพทย์เสมอ

    การรักษาในโรงพยาบาล หากรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีภาวะไตติดเชื้อรุนแรง แพทย์อาจต้องฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง ร่วมกับการให้น้ำเกลือและยาแก้ปวดลดไข้ ติดตามอาการโดยตรวจปัสสาวะและเลือดอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 10-14 วัน ส่วนผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเสี่ยงเกิดอันตรายต่อตนเองและทารกในครรภ์ หรือทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดเบตา-แลกแทม เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

ในกรณีที่ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบมีภาวะไตติดเชื้อชนิดเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของฝีหนอง หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของไต และผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อรักษา หรืออาจต้องตัดเนื้อไตบางส่วนทิ้งไป หากพบว่าไตติดเชื้อรุนแรงมาก

ภาวะแทรกซ้อนของกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนหากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง แต่อาจนำไปสู่การเกิดกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรังได้ ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด และแม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของกรวยไตอักเสบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง การเกิดแผลเป็นหรือฝีในไต และภาวะไตวายเฉียบพลัน

การป้องกันกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบอาจป้องกันได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยอาจปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

    ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อขับปัสสาวะที่มีเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกาย
    ไม่กลั้นปัสสาวะ และปัสสาวะทันทีเมื่อรู้สึกปวด
    ปัสสาวะทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย
    ผู้หญิงควรเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศและทวารหนักจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ท่อปัสสาวะ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศหญิง เช่น สเปรย์ สบู่ เป็นต้น
    ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจปัสสาวะในช่วงสัปดาห์ที่ 12-16 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและทารกในครรภ์ได้
    หากกำลังป่วยหรือมีความผิดปกติใด ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มีนิ่วอุดตัน ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมีโครงสร้างอวัยวะภายในระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ ควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดกรวยไตอักเสบ