ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ข้อเคล็ด/ข้อแพลง (Sprain) ข้อเท้าแพลง (Ankle sprain  (อ่าน 94 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 272
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ข้อเคล็ด/ข้อแพลง (Sprain) ข้อเท้าแพลง (Ankle sprain)

ข้อเคล็ดข้อแพลง คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดจากการบาดเจ็บที่ข้อกระดูกเกิดความเสียหายต่อเอ็นกระดูก (ligament) ซึ่งเป็นมัดของเนื้อเยื่อเส้นใย (fibrous tissue) ที่ยึดเชื่อมระหว่างกระดูก 2 ชิ้น ตรงบริเวณข้อต่อต่าง ๆ

ภาวะนี้พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักเกิดจากอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำกิจวัตรประจำวัน ทำให้ข้อเกิดการบิด หมุน หรือพลิกมากเกินจนเอ็นกระดูกเสียหาย

ข้อที่พบบาดเจ็บได้บ่อยมาก ได้แก่ ข้อเท้า (เรียกว่า "ข้อเท้าแพลง" หรือ "ข้อเท้าพลิก")

นอกจากนี้อาจพบการบาดเจ็บที่ข้อมือ ข้อเข่า  ข้อไหล่  ข้อนิ้วมือ

สาเหตุ

เกิดจากเอ็นกระดูก (ligament) ตรงบริเวณข้อกระดูกถูกยืดออกมากเกินปกติหรือฉีกขาด เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรืออุบัติเหตุ

ปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บจนทำให้ข้อแพลง ได้แก่ การทำกิจกรรมในสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง (เช่น การเดินหรือวิ่งในที่มืด บนพื้นผิวที่ขรุขระ เปียกหรือลื่น หรือบนพื้นต่างระดับ การก้าวขึ้นลงบันได) กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงหรืออ่อนล้า ไม่ได้ทำการอบอุ่นร่างกายและยืดเส้นยืดสายก่อนออกกำลังกาย การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม (เช่น รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้าหรือไม่เหมาะกับกิจกรรมที่ทำ) การขาดสติ ความมึนเมา ความประมาทเลินเล่อ

สำหรับข้อเท้าแพลง นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ยังอาจเกิดจากการหกล้ม ก้าวพลาด ตกส้นสูง หรือเท้าพลิก ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน เท้าผิดรูป หรือเคยบาดเจ็บที่ข้อเท้ามาก่อน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดข้อเท้าแพลงได้ง่ายขึ้น

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บที่ข้อหลังได้รับบาดเจ็บ โดยจะเจ็บเวลาเคลื่อนไหวข้อ หรือใช้นิ้วกดถูกบริเวณที่บาดเจ็บจะรู้สึกเจ็บ และในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการข้อหลวม

อาการจะรุนแรงมากน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรง ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 รุนแรงเล็กน้อย เอ็นกระดูก (ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเส้นใยหรือ fibrous tissue) มีการยืดออกมากเกินปกติ เกิดความเสียหายเล็กน้อย ข้อที่บาดเจ็บมีอาการปวดเล็กน้อย กดถูกเจ็บเล็กน้อย อาจบวมเล็กน้อยหรือไม่บวมเลย ผู้ป่วยยังสามารถขยับข้อหรือใช้งานข้อได้เป็นปกติ

ระดับที่ 2 รุนแรงปานกลาง เอ็นกระดูกมีการฉีกขาดเพียงบางส่วน (ส่วนใหญ่มักฉีกออกไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเส้นใย) ข้อที่บาดเจ็บมีอาการปวดและบวมค่อนข้างมาก กดถูกเจ็บ ขยับข้อหรือใช้งานข้อได้ค่อนข้างลำบาก

ระดับที่ 3 รุนแรงมาก เอ็นกระดูกมีการฉีกขาดตลอดทั้งเส้น หรือหลุดออกจากกระดูกที่เคยยึดข้อไว้ ข้อที่บาดเจ็บมีอาการปวดและบวมมาก ไม่สามารถขยับข้อหรือใช้งานข้อได้

สำหรับข้อเท้าแพลง ถ้ารุนแรงเล็กน้อย จะมีอาการปวดเล็กน้อยเวลาเคลื่อนไหว หรือกดถูกเจ็บที่บริเวณข้อเท้าที่แพลง ไม่มีอาการบวมหรือบวมเพียงเล็กน้อย สามารถลงน้ำหนักเท้าได้ เดินได้ปกติ

ถ้ารุนแรงปานกลาง จะมีอาการบวมและฟกช้ำร่วมด้วย ลงน้ำหนักเท้าไม่ค่อยได้ เพราะจะรู้สึกปวดทำให้เดินลำบาก

ถ้ารุนแรงมาก จะมีอาการปวด บวม และฟกช้ำมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือลงน้ำหนักเท้าได้ เพราะจะปวดมากทำให้เดินไม่ได้

ข้อเท้าแพลงส่วนใหญ่จะพบอาการผิดปกติ (ปวด บวม) เฉพาะที่ตาตุ่มด้านนอก (ด้านนิ้วก้อย) แต่ถ้าพบความผิดปกติ (ปวด บวม) ที่ตาตุ่มทั้งด้านนอกและด้านใน (ด้านนิ้วโป้ง) มักเป็นภาวะที่รุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นรุนแรง จะไม่สามารถขยับข้อหรือใช้งานข้อได้ เคลื่อนไหวลำบาก หรือเดินลำบาก ต้องพักการใช้งานนานเป็นสัปดาห์ ๆ ถึงเป็นเดือน ๆ

ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา หรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก อาจทำให้ข้อมีอาการปวดเรื้อรัง หรือบวมเรื้อรัง เอ็นกระดูกข้อต่อไม่แข็งแรงอย่างเรื้อรัง เสี่ยงต่อการเกิดข้อแพลงกำเริบซ้ำซาก และข้ออักเสบ

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

ตรวจพบข้อมีลักษณะบวม กดถูกเจ็บ อาจพบว่าข้อที่บวมมีลักษณะแดง คลำดูอาจรู้สึกว่าร้อนกว่าปกติ อาจพบรอยเขียวคล้ำหรือฟกช้ำเนื่องจากหลอดเลือดฝอยแตกมีเลือดออก

ในรายที่รุนแรงอาจตรวจพบว่าข้อหลวม

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ทำการรักษาและให้คำแนะนำผู้ป่วยในการปฏิบัติตัว เพื่อลดอาการปวดและบวม ได้แก่

    ประคบด้วยความเย็นทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ เพื่อลดอาการปวดและบวม โดยการใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก หรือเจลประคบเย็น (ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ควรใช้ผ้าห่อป้องกันผิวหนังได้รับอันตรายจากความเย็น) หรือผ้าชุบน้ำเย็นประคบ หรือแช่ข้อที่บาดเจ็บ (เช่น ข้อเท้าที่แพลง) ในภาชนะบรรจุน้ำเย็น หรือน้ำก๊อกใส่น้ำแข็ง นานครั้งละ 15-20 นาที (อย่าใช้เวลาสั้นกว่านี้อาจไม่ได้ผล หรือนานกว่านี้อาจทำให้ผิวหนังได้รับอันตรายจากความเย็น) ควรทำการประคบซ้ำ ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ตลอดทั้งวันตั้งแต่ตื่นเช้าจนกระทั่งเข้านอนตอนกลางคืน ทำอย่างต่อเนื่องในระยะ 48-72 ชั่วโมงแรกหลังบาดเจ็บ (ในระยะนี้ไม่ควรประคบด้วยความร้อน อาจทำให้บวมมากขึ้น)
    ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด (elastic bandage) พันรอบข้อที่บาดเจ็บเพื่อลดบวม โดยเริ่มพันจากส่วนปลาย (ส่วนที่อยู่ใต้ข้อ หรือที่ไกลจากหัวใจมากที่สุด) ขึ้นมา ระวังอย่าให้รัดแน่นจนเลือดไปเลี้ยงปลายมือหรือปลายเท้าไม่ได้ ควรคลายผ้าให้หลวมหากพบว่ามีอาการปวดมากขึ้น หรือมีอาการบวมหรือชาบริเวณที่อยู่ข้างใต้ที่พันผ้า ควรพันนาน 2-3 วัน หรือจนกว่าจะยุบบวม อาจถอดผ้าพันออกในช่วงเข้านอนตอนกลางคืน แต่ควรใช้หมอนหนุนยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ
    ยกข้อที่แพลงให้สูงกว่าระดับหัวใจ เช่น
    - ข้อเท้าแพลง/ข้อเข่าแพลง เวลานอนก็ใช้หมอนรองเท้าให้สูง หรือเวลานั่ง ควรยกข้อเท้าวางบนเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง (ระวังอย่านั่งห้อยเท้า อาจทำให้บวมมากขึ้นได้)
    - ข้อมือแพลง/ข้อนิ้วมือแพลง ควรยกข้อมือ/ข้อนิ้วมือให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้ผ้าคล้องคอ และอย่าใช้ข้อมือข้างนั้นทำงาน (เช่น ยกของ ซักผ้า)
    ควรพักข้อที่แพลงให้มากที่สุด จนกว่าอาการปวดจะทุเลา ซึ่งอาจกินเวลาประมาณ 2-3 วัน เมื่ออาการทุเลาแล้วก็ค่อย ๆ เคลื่อนไหว และบริหารข้อนั้นให้คืนสู่สภาพปกติ

สำหรับข้อเท้าแพลง/ข้อเข่าแพลง พยายามเดินให้น้อยที่สุด และเวลาเดินอาจใช้ไม้ค้ำยันช่วยให้ไม่ต้องลงน้ำหนักเท้าข้างที่บาดเจ็บ

    ถ้าปวด ให้กินยาแก้ปวด พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซิแคม นาโพรเซน)

2. ถ้ามีอาการปวดหรือบวมมากขึ้น หรืออาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน หรือสงสัยเป็นข้อแพลงที่รุนแรง หรือกระดูกแตกร้าวหรือหัก ก็จะทำการเอกซเรย์เพื่อตรวจดูว่ากระดูกมีความผิดปกติหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจแยกอาการข้อแพลงออกจากอาการกระดูกแตกร้าวหรือหักได้ยาก

บางรายแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม ด้วยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจดูความรุนแรงของโรค

สำหรับข้อเท้าแพลงรุนแรง อาจต้องใส่เฝือกดามข้อเท้า หรือใส่รองเท้าช่วยเดิน (walking boot) จนกว่าอาการจะดีขึ้นและกลับมาเดินได้เป็นปกติ

สำหรับผู้ที่มีข้อแพลงที่รุนแรงมาก หรือรักษาโดยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อยอาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

ในรายที่เป็นรุนแรงและใช้เวลาในการรักษาอยู่นาน แพทย์จะให้ทำกายภาพบำบัด ฝึกบริหารกล้ามเนื้อให้ฟื้นคืนความแข็งแรงจนใช้งานได้เป็นปกติและป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำ

ผลการรักษา รายที่มีอาการเล็กน้อยมักหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ (ไม่เกิน 4 สัปดาห์) รายที่มีอาการปานกลางมักใช้เวลารักษานาน 4-6 สัปดาห์ รายที่มีอาการรุนแรงมักใช้เวลารักษานาน 6-12 สัปดาห์

การดูแลตนเอง

1. ถ้ามีอาการปวดและบวมเล็กน้อย ขยับข้อได้ เดินได้เป็นปกติ ควรดูแลตนเองตามแนวทางการรักษาโดยแพทย์ดังกล่าว ได้แก่

    ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที และทำบ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ตลอดตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ในระยะ 48-72 ชั่วโมงแรก (ไม่ควรประคบด้วยความร้อน)
    ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด (elastic bandage) พันพอแน่น (อย่าให้แน่นเกินไป)
    ยกข้อที่แพลงให้สูงกว่าระดับหัวใจ
    พักการใช้ข้อจนกว่าอาการปวดจะทุเลา

สำหรับข้อเท้าแพลง พยายามเดินให้น้อยที่สุด และเวลาเดินอาจใช้ไม้ค้ำยันช่วยให้ไม่ต้องลงน้ำหนักเท้าข้างที่บาดเจ็บ

    ถ้าปวด กินยาแก้ปวด พาราเซตามอล* หรือยาที่แพทย์แนะนำ

ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดมากที่บริเวณข้อที่บาดเจ็บ
    มีอาการบวมมาก หรือบวมที่ตาตุ่มทั้งด้านนอกและด้านใน
    ขยับข้อหรือเคลื่อนไหวข้อลำบาก เพราะขยับแล้วทำให้ปวด
    ลงน้ำหนักเท้าไม่ได้ หรือเดินไม่ได้
    ข้อมีลักษณะผิดรูป หรือสงสัยกระดูกแตกร้าวหรือหัก
    ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

2. ถ้าไปพบแพทย์ตรวจรักษา ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไปพบแพทย์ตามนัดจนกว่าจะหายเป็นปกติ

ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการปวดหรือบวมมากขึ้น ขยับข้อได้ลำบากมากขึ้น หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น เฝือกที่ใส่รัดแน่นเกิน แผลที่ผ่าตัดติดเชื้อหรือมีเลือดออก มีอาการแพ้ยา เป็นต้น

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้  ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ

การป้องกัน

หลักใหญ่ คือ ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย และการทำกิจวัตรประจำวัน ดังนี้

    หมั่นออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อและเอ็นเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อและเอ็นมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น
    ก่อนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาทุกครั้ง ควรอบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย
    สวมใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า (ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป) และเลือกให้ถูกกับกิจกรรมหรือกีฬาแต่ละอย่าง ควรเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่หากส้นสึกชำรุด และหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง หรือถ้าจำเป็นควรมีความระมัดระวังตัวให้มาก
    ในการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บของข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยมีอาการข้อแพลงมาก่อน ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันข้อไว้
    หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากเกินจนทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า และหากทำกิจกกรรมจนเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า ควรหยุดพัก
    ลดน้ำหนักถ้ามีภาวะน้ำหนักเกิน
    หลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการเดินหรือวิ่งในที่มืด หรือบนพื้นผิวที่ขรุขระ เปียก หรือลื่น
    ระมัดระวังในการขึ้นลงบันไดหรือพื้นต่างระดับ ควรจับราวบันไดหรือที่เกาะ และไม่ควรพูดคุยหรือทำอะไรที่ทำให้เผอเรอระหว่างที่ก้าวขึ้นลงบันได

ข้อแนะนำ

1. ข้อเคล็ดข้อแพลงที่มีอาการรุนแรงเล็กน้อยและขยับข้อหรือเดินได้ปกติ สามารถดูแลรักษาตนเองตามแนวทางที่แพทย์แนะนำได้ อาการมักจะดีขึ้นใน 2-3 วัน และหายขาดภายใน 2-4 สัปดาห์ ถ้าอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์

2. หลังได้รับบาดเจ็บควรพักข้อ และประคบด้วยความเย็นทันที เพราะจะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ลดอาการปวดและบวม ควรประคบทุก 2-3 ชั่วโมง (ครั้งละ 15-20 นาที) ทำต่อเนื่องในระยะ 48-72 ชั่วโมงแรกหลังบาดเจ็บ ห้ามประคบด้วยความร้อน (น้ำอุ่นจัด ๆ หรือเจลประคบร้อน) หรือทาน้ำมันมวยหรือยาทาที่ออกร้อน เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยาย เกิดอาการบวมมากขึ้นได้ และห้ามทำการนวด (ด้วยมือหรือใช้ยาทานวดใด ๆ) เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและบวมมากขึ้นได้

การประคบด้วยความร้อน แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังและหายบวมแล้วเท่านั้น

3. ในรายที่มีความรุนแรง ซึ่งขยับข้อหรือเดินไม่ได้หรือลำบากเป็นเวลาหลายวัน หลังจากแพทย์ให้การรักษาจนอาการปวดและบวมหายดีแล้ว แพทย์จำเป็นต้องทำการฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย โดยการทำกายภาพบำบัด ฝึกการออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกาย การบริหารบริเวณข้อเท้า (เพื่อให้กล้ามเนื้อและเอ็นแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น) และฝึกการทรงตัวให้กลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีความอดทนฝึกอย่างจริงจัง เช่น อาจเกิดข้อแพลงเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนตามมาได้   

4. ผู้ป่วยที่เป็นข้อเท้าแพลง หลังจากให้การรักษาเบื้องต้นจนทุเลาขึ้นแล้ว และระหว่างรอเวลาฟื้นตัวสู่ปกติ อาจมีอาการปวดเวลาเดินหรือเคลื่อนไหวข้อ แพทย์จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วย โดยอาจใช้ผ้ายืดพันหรือใช้ไม้ค้ำยันช่วยให้ไม่ต้องลงน้ำหนักเท้าข้างที่บาดเจ็บขณะเดิน หรือใช้อุปกรณ์แบบสวมพยุงข้อเท้า (ankle support brace) ช่วยพยุงข้อขณะเคลื่อนไหว ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องใส่เฝือกดามข้อเท้า หรือใส่รองเท้าช่วยเดิน (walking boot) จนกว่าจะกลับมาเดินได้เป็นปกติ