ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: กระจกตาอักเสบ (Keratitis) - แผลกระจกตา (Corneal ulc  (อ่าน 125 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 272
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: กระจกตาอักเสบ (Keratitis) - แผลกระจกตา (Corneal ulcer)

กระจกตา (ตาดำ) อาจเกิดการอักเสบหรือเป็นแผลได้ เป็นภาวะที่พบได้เป็นครั้งคราวในคนทุกวัย บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้สายตาพิการหรือตาบอดได้

สาเหตุ

กระจกตาอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อไวรัส (ที่พบบ่อย คือ เริม งูสวัด ไวรัสอะดิโน หัด) แบคทีเรีย (เช่น สเตรปโตค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส สูโดโมแนส ริดสีดวงตา วัณโรค โรคเรื้อน ซิฟิลิส) เชื้อรา (เช่น แคนดิดา แอสเปอร์จิลลัส) เชื้อโปรโตซัว (เช่น acanthamoeba ซึ่งมีอยู่ในน้ำสกปรก)

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากภาวะตาแห้ง (มักเกิดจากต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาไม่ได้ บางรายอาจเกิดจากภาวะผิดปกติของสารประกอบของน้ำตาที่ทำให้ระเหยง่าย หรือพบร่วมกับโรคภูมิต้านตนเอง เช่น เอสแอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์) การถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต การระคายเคืองจากการใช้เลนส์สัมผัสหรือยาหยอดตา การแพ้ยาและกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ภาวะขนตาเก (ขนตาแยงเข้าด้านในถูถูกกระจกตา) ผิวกระจกตาแห้งเนื่องจากปิดหนังตาไม่มิด (เช่น อัมพาตเบลล์ ภาวะตาโปนในโรคคอพอกเป็นพิษ)

แผลกระจกตา มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรโตซัว (เช่น acanthamoeba) ภายหลังกระจกตาได้รับบาดเจ็บ (เช่น ถูกใบหญ้าหรือพืชผักบาด สิ่งแปลกปลอมเข้าไปฝังที่กระจกตา) หรือจากการใช้เลนส์สัมผัสที่ไม่ถูกวิธี (เช่น ใส่เลนส์สัมผัสขณะนอนหลับ ใส่เลนส์สัมผัสที่แปดเปื้อนเชื้อ หรือแช่ในน้ำยาที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อ) หรือจากการติดเชื้อไวรัส (ที่สำคัญ คือ เริมและงูสวัด)

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากกระจกตามีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น การใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์นาน ๆ) โรคขาดวิตามินเอ หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงตา เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ตาอักเสบจากเชื้อหนองใน และกระจกตาอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ

อาการ

ในระยะที่กระจกตามีการอักเสบหรือเป็นแผลใหม่ ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา เคืองตา หรือรู้สึกคล้ายผงเข้าตา กลัวแสง น้ำตาไหล ตาแดง ตาพร่ามัว อาจมีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว

ภาวะแทรกซ้อน

กระจกตาอักเสบที่รุนแรงอาจกลายเป็นแผลกระจกตา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น

ในระยะที่มีการติดเชื้ออักเสบ เชื้อโรคอาจกินทะลุชั้นของกระจกตาเข้าไป ทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตาอาจกลายเป็นม่านตาอักเสบ มีหนองขังอยู่ในช่องลูกตาหน้า (hypopyon) ลูกตาอักเสบทั่วไป (panophthalmitis) จนตาเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากเชื้อรา มักจะมีความรุนแรงมาก

ในระยะที่การอักเสบทุเลาลงแล้ว แผลกระจกตาก็อาจกลายเป็นแผลเป็นลักษณะขุ่นขาว เรียกว่า ต้อลำไย (corneal leukoma) ทำให้ตามองเห็นไม่ถนัด ถ้าแผลเป็นมีขนาดใหญ่และอยู่ตรงกลางตาดำ บดบังสายตา ก็จะทำให้มองเห็นหรือสายตาพิการ

บางรายอาจกลายเป็นสายตาเอียง


การวินิจฉัย

แพทย์จะให้การวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มักตรวจพบอาการตาแดงที่บริเวณรอบ ๆ ตาดำ และขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว

ในรายที่มีแผลกระจกตา มักพบกระจกตาขุ่นหรือเป็นแผล อาจพบภาวะมีหนองขังอยู่ในช่องลูกตาหน้า (hypopyon) หนังตาบนบวม รูม่านตาหดเล็ก

แพทย์จะตรวจหาสาเหตุโดยใช้เครื่องมือส่องตรวจตา ทำการย้อมสีด้วยวิธี fluorescein staining และทำการตรวจหาเชื้อด้วยการย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อ

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ยาต้านไวรัสในรายที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือให้ยาฆ่าเชื้อราในรายที่เกิดจากเชื้อรา

นอกจากนี้อาจต้องให้ยาหยอดตาอะโทรพีน ชนิด 1% เช่นเดียวกับการรักษาโรคม่านตาอักเสบ

ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนก็ให้การแก้ไข

ส่วนในรายที่การอักเสบทุเลาลงแล้ว แต่กลายเป็นแผลเป็น (ต้อลำไย) ทำให้สายตาพิการ แต่พบว่าประสาทตายังเป็นปกติดี อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา (corneal transplantation) โดยตัดเอาส่วนที่เป็นแผลเป็นออกไป แล้วเอากระจกตาที่ปกติของผู้บริจาคมาใส่แทน จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับเห็นเหมือนปกติได้ (การผ่าตัดเปลี่ยนตา ก็หมายถึงการผ่าตัดชนิดนี้ ไม่ใช่หมายถึงเปลี่ยนลูกตาทั้งลูก ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้)


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดตา น้ำตาไหล ตาแดง ตาพร่ามัว มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นกระจกตาอักเสบ/แผลกระจกตา ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา 
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ควรหาทางป้องกันแผลกระจกตา ดังนี้

    เมื่อพบว่าเป็นโรคเริมหรืองูสวัดที่บริเวณตา ให้รีบส่งไปโรงพยาบาลเพื่อให้ยาต้านไวรัสรักษาโดยเร็ว
    ระวังอย่าให้ถูกใบหญ้าหรือพืชผักบาดตา หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ถ้าทำงานที่เสี่ยงต่อปัญหานี้ ควรสวมหน้ากากหรือแว่นตาป้องกัน
    หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น
    ผู้ที่ใช้เลนส์สัมผัส ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการใส่เลนส์สัมผัสขณะนอนหลับ

ข้อแนะนำ

กระจกตาอักเสบหรือเป็นแผล จะมีอาการตาแดงหรือมีขี้ตาคล้ายเยื่อตาขาวอักเสบจากแบคทีเรียหรือไวรัส แต่จะมีอาการปวดตา เคืองตารุนแรงกว่า และมีอาการตาพร่ามัวร่วมด้วย ควรซักถามอาการให้ละเอียด และตรวจดูกระจกตาว่ามีลักษณะขุ่นมัวหรือเป็นแผลหรือไม่ หากมีประวัติและอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นแผลกระจกตา ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด่วน